U-Dom Student Services

แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ให้คำปรึกษาเรื่องวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน จัดหาที่พัก

ไทย-เยอรมนี สู่ความร่วมมือทางการศึกษา

150ปี แห่งการสถาปนาทางการทูตระหว่างไทยและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น ถือเป็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นที่มีให้กันมาอย่างยาวนาน และจากความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันครั้งนี้ จึงได้นำไปสู่การเจรจาความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างไทยและเยอรมนี โดยกระทรวงศึกษาธิการได้บินลัดฟ้าสู่ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อเจรจาความร่วมมือทางการศึกษากับนางคอร์นีเลีย พีเพอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้

หากเอ่ยถึงความร่วมมือทางการศึกษาของไทยและเยอรมนีนั้น ประเทศเยอรมนีให้ความร่วมมือแก่ไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และการฝึกอบรมทางวิชาชีพ การพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเยอรมนีแก่ไทย สำหรับความร่วมมือทางด้านการศึกษา เยอรมนีมีความสัมพันธ์และความร่วมมือทางด้านการศึกษาและวิชาการกับประเทศ ไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน และรัฐบาลเยอรมนียังได้เคยแสดงความสนใจที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง สถาบันทางวิชาการของไทยกับเยอรมนีในด้านต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งของทั้งสองประเทศ ซึ่งได้พัฒนามาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาแบบทวิภาคี และสะท้อนถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ที่ยาวนานและพัฒนาไปสู่ระดับการเป็นหุ้นส่วนต่อกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทย ทำให้พัฒนาขีดความสามารถไปสู่การเป็นคู่ภาคีกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ทำให้ความตกลงที่ได้เคยทำร่วมกันไว้มาหลายปี จำเป็นต้องได้รับการปรับให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ทั้งนี้จุดเด่นของกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีคือ การมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศด้วย ดังนั้น การหารือในครั้งนี้ จึงอยากให้มีการสานต่อในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายได้เคยหารือไว้เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ 2555 ในครั้งที่ทางเยอรมนีเดินทางมาเยือนประเทศไทย

สำหรับการเจรจาความร่วมมือทางการศึกษาครั้งนี้ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช  รมว.ศึกษาธิการ อธิบายว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือด้านการศึกษาของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศควรมีความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันในลักษณะของความเป็นหุ้น ส่วนที่เท่าเทียมกัน และควรขยายถึงภาคีอื่น ๆ เช่น การให้ทุนแก่ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเข้ามาศึกษาในประเทศไทยจากการสนับสนุนของไทยและเยอรมนี

“ผมถือว่าเยอรมนีมีการจัดระบบการศึกษาที่ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะการ จัดการศึกษาที่ให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักโลกของการทำงานในรูปแบบการเรียนคู่ ขนานหรือที่เรียกว่าเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ซึ่งในระดับอุดมศึกษาของประเทศเยอรมนี นอกจากให้นักศึกษาได้เรียนภาคทฤษฎีในมหาวิทยาลัยแล้วจะให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ   ดังนั้น การหารือครั้งนี้จะมีการทำบันทึกความร่วมมือ ในการจัดส่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันอาชีวศึกษา มาฝึกปฏิบัติงานที่บริษัทชั้นนำของประเทศเยอรมนีด้วย ผมเชื่อมั่นว่าการหารือครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในเรื่อง เทคโนโลยีต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น รวมถึงจะเป็นผลดีกับอนาคตของเด็กไทยด้วย” ศ.ดร.สุชาติ กล่าว

นอกจากการเดินทางไปเจรจาความร่วมมือกับประเทศเยอรมนีครั้งนี้แล้วยังได้ มีการเยี่ยมชมศูนย์ประกอบการส่งเสริมธุรกิจของสภาช่างอุตสาหกรรม พอสต์ดัม เมืองเกิตซ์ แคว้นบรันเด็นบวร์ก ประเทศเยอรมนีด้วย โดยศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ฝึกอบรมและการศึกษาด้านหัตถกรรมที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีภาคเอกชนได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ประชาชน เพื่อนำไปเทียบโอนวุฒิการศึกษาได้ ดังนั้นประชาชนที่ขาดความรู้ทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ก็จะมาเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์แห่งนี้ และนำความรู้ที่ได้รับกลับไปต่อยอดการทำงาน หรือตลาดอุตสาหกรรมในประเทศได้ ขณะเดียวกันศูนย์ดังกล่าวยังเป็นแหล่งให้การศึกษาพิเศษที่เป็นที่ยอมรับใน 5 สาขา ได้แก่ ไฟฟ้า รถยนต์ โลหะ เครื่องทำความร้อน การทาสี ช่างไม้  อีกด้วย แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เชื่อว่าการศึกษาดูงานจากสถาบันแห่งนี้จะนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้มากอย่างแน่นอน

นับว่ามิตรภาพอันแน่นแฟ้นที่ทั้งสองประเทศมีให้แก่กันเหล่านี้จะเป็นตัว ผลักดันและเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับเด็กไทยในการเพิ่มศักยภาพด้านอุตสาหกรรม หรือนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงให้เทียบเท่าเวทีโลกได้อย่างงดงาม

ที่มา http://www.dailynews.co.th

ผู้เขียน: udom4edu

I am working for U-Dom Student Services since 2nd April 2008. The company has operated the one stop service of Visa & Educational Advice for a customers.

การแสดงความเห็นถูกปิด