U-Dom Student Services

แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ให้คำปรึกษาเรื่องวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน จัดหาที่พัก

USA

california-san20francisco-oakland2

ระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ไพศาล (เทียบเท่ากับ 18 เท่าของพื้นที่ประเทศไทย) ส่วนกว้างของประเทศ จากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันตก ไปจนจรดมหาสมุทรแอตแลนติกทางตะวันออก มีความกว้างถึง 4,500 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาบินประมาณ 5 ชั่วโมง ทิศเหนือมีอาณาเขตติดกับประเทศแคนาดา ทิศใต้ติดกับประเทศเม็กซิโกและอ่าวเม็กซิโก

รัฐและเมืองสำคัญ สหรัฐอเมริกาประกอบด้วยรัฐต่างๆ 50 รัฐ กับ 1 เขตการปกครองคือ วอชิงตัน ดีซี (Washington DC) รัฐเหล่านี้มีอาณาเขตติดต่อกันถึง 48 รัฐ มียกเว้น 2 รัฐคือ รัฐฮาวาย ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และรัฐอลาสก้า ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของ ประเทศแคนาดา เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศกว้างขวางมาก จึงทำให้ภูมิอากาศแตกต่างกันด้วย ดังนั้นรัฐต่างๆ เหล่านี้จึงถูก แบ่งเป็น 7 เขตดังนี้

1.  Northwest State : Washington, Oragon, Idaho

2. Southwest State : California, Nevada, Utah, Arizona

3.  North Central State : Montana, Wyoming, Colorado, North Dakota, South Dakota, Nebraska, Kansas,  Minnesota, Iowa, Missouri

4.  South Central State : New Mexico, Oklahoma, Arkansas, Texas, Louisiana

5.  Midwest State : Wisconsin, Illinois, Michigan, Indiana, Ohio, Kentucky

6.  Northeast State : New Hampshire, Vermont, New York, Pennsylvania, West Virginia, Virginia, Maine, Massachusetts, Rhode Island, Connecticut, New Jersy, Delaware, Maryland, District of  Columbia

7.  Southeast State : Tennessee, North Carolina, South Carolina, Mississippi, Alabama, Georgia, Florida

การศึกษา

การศึกษาในสหรัฐอเมริกาแต่ละรัฐจะควบคุมคุณภาพ การเรียนการสอน และวางแผนการศึกษาของตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลาง ทุกรัฐจะมีหน่วยงานการศึกษาคล้ายกระทรวงศึกษาธิการ คอยกำหนดมาตรฐานต่างๆ แนะนำเงินงบประมาณอุดหนุนให้โรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย จากเงินภาษีที่เก็บได้จากประชาชนในแต่ละรัฐ การศึกษาภาคบังคับ นักเรียนอเมริกันทุกคนจะเรียนฟรีไม่ว่าจะอยู่ที่รัฐใด จนจบชั้นมัธยมศึกษา หรือ Grade 12 สำหรับนักเรียนจากประเทศไทย ที่ต้องการเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาที่อเมริกา จะสมัครเข้าเรียนได้ในโรงเรียนเอกชนเท่านั้น เพราะสหรัฐอเมริกาจะไม่ออกวีซ่าให้นักเรียนไทยที่ได้ I-20 จากโรงเรียน ระดับประถมและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนของรัฐที่เรียกว่า Public School การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีข้อแตกต่าง กล่าวคือ ถ้านักเรียนที่มีถิ่นฐานในรัฐหนึ่ง จะข้ามมาศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยอีกรัฐหนึ่ง จะต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงขึ้น ที่เรียกว่า Out of States Tuition และถ้านักศึกษามาจากประเทศอื่น จะต้องเสียค่าเล่าเรียนมากกว่าขึ้นไปอีก

โรงเรียนอนุบาล (Kindergarten)
ชีวิตการเรียนของเด็กอเมริกันเริ่มต้นด้วยโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือโรงเรียนอนุบาล ตั้งแต่อายุประมาณ 3 ขวบ

โรงเรียนประถมศึกษา (Elementary Schools)
เด็กอเมริกันจะเข้าเริ่มเรียนอย่างจริงจังเมื่ออายุ 6 ขวบ บริบูรณ์ คือเข้าเรียนในชั้น Grade 1 ซึ่งบ้านเราก็นับว่าเป็น ประถมศึกษาปีที่ 1 ระบบการศึกษาของประเทศอเมริกา จะจัดแบ่งออกเป็น Grade 1 ถึง Grade 12 ซึ่งโดยหลักการแล้ว จะจัดแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 คือ Grade 1 ถึง Grade 6 หรือระดับประถมศึกษา (Elementary School)

โรงเรียนมัธยมศึกษา (Junior High Schools / High Schools)
ช่วงที่ 2 คือ Grade 7 และ Grade 8 หรือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (Junior High School) และช่วงที่ 3 คือ Grade 9 ถึง Grade 12 เป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (Senior High School) โดยทั่วไปสำหรับเด็กที่เข้าเริ่มเรียนตามปกติ และเรียนต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดตอน จะสำเร็จการศึกษา Grade 12 เมื่อ อายุประมาณ 18 ปี ซึ่งนับว่าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนในระดับนี้ ต้องเรียนวิชาพื้นฐานคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และอาจต้องเรียนภาษาต่างชาติ หรือพลศึกษาด้วย นักศึกษาต่างชาติที่เข้าไปเรียนต่อ ในระดับมัธยมศึกษา ประถมศึกษาในประเทศอเมริกามีจำนวนไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำของเอกชน หรือ Boarding School แม้ว่าในปัจจุบันโรงเรียนของรัฐบาลจะมีนโยบาย เปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น แต่นักศึกษาต่างชาติส่วนใหญ่ ก็ยังคงสมัครเข้าเรียนกับโรงเรียนประจำ เนื่องจากโรงเรียนรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดหาหอพักให้ได้ โดยทั่วไปนักเรียน ไทยส่วนใหญ่ที่ไปเรียนต่อในระดับนี้มักสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว และไปเข้าเรียนต่อ Grade 10 ใน ประเทศอเมริกา

ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)
สถาบันระดับอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกามีมากมายกว่า 3,000 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน โดยสถาบันในระดับอุดมศึกษา จะแยกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. วิทยาลัยแบบ 2 ปี หรือวิทยาลัยชุมชน (Junior Colleges และ Community Colleges) นักศึกษาที่เรียนใน วิทยาลัย Junior และ Community Colleges สามารถ เลือกเรียนได้ใน 2 หลักสูตร คือ

1.1 Transfer Track เป็นหลักสูตรที่เป็นวิชาพื้นฐาน 2 ปี แรกของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักศึกษาจะลงเรียนรายวิชาบังคับ (General Education Requirements) เป็นเวลา 2 ปี จากนั้น นักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิต (Transfer) ไปมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อศึกษาต่อในระดับปี 3 โดยที่เกรดเฉลี่ยที่นักศึกษาทำได้ในระหว่าง 2 ปีนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่า นักศึกษาจะได้รับการตอบรับเข้ามหาวิทยาลัย ที่อยู่ในอันดับยากง่ายเพียงใด

1.2 Terminal/Vocational Track เป็นหลักสูตรอนุปริญญาสายวิชาชีพ หลังจาก 2 ปีแล้ว นักศึกษาจะได้รับวุฒิอนุปริญญา (Associate Degree) ทางสาขาวิชาที่เลือก อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ เลขานุการ เขียนแบบ เป็นต้น

2. วิทยาลัย (Colleges) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา หลักสูตร 4 ปี เปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ วิทยาลัยหลายแห่ง เปิดสอนถึงระดับปริญญาโท วุฒิบัตรระดับปริญญาตรีและโทจาก College ทั้งของรัฐและเอกชนในสหรัฐฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่า University ทุกประการ

3. มหาวิทยาลัย (University) เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีขึ้นไป มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอกในสาขาต่างๆ

4. สถาบันเทคโนโลยี (Institute of Technology) เป็นสถาบันที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี และอาจเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาโทและเอก สถาบันเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การสอนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เงื่อนไขการรับเข้าเรียน

– มัธยมศึกษา นักเรียนจากประเทศไทยสามารถศึกษาต่อในระดับมัธยมในโรงเรียนของเอกชนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าเรียนในสถาบันของรัฐบาลได้ เงื่อนไขอื่นๆ เช่นเกรดเฉลี่ยและคะแนน TOEFL แตกต่างออกไปตามสถาบัน

– วิทยาลัยสองปี วิทยาลัยส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL 480-500 ขึ้นไป

– มหาวิทยาลัย สำหรับปริญญาตรี สถาบันส่วนใหญ่ต้องการนักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ย 2.5 ขึ้นไป และ TOEFL 500 ขึ้นไป ปริญญาโทและเอก เกรดเฉลี่ย 3.0 ขึ้นไป และคะแนน TOEFL ไม่ต่ำกว่า 550 iBT 175 นักศึกษาที่จะสมัครในโปรแกรม MBA ส่วนใหญ่จะต้องใช้คะแนน GMAT ซึ่งจะนำมาคำนวณกับเกรดเฉลี่ยปริญญาตรี ส่วนนักศึกษาที่สมัครปริญญาโทและเอกในสาขาอื่นๆ ส่วนใหญ่จะต้องสอบ GRE (Graduate Record Examination)

ปีการศึกษา

ปีการศึกษาในสหรัฐอเมริกา (Academic Year) จะเริ่ม ประมาณเดือนกันยายนถึงพฤษภาคม ซึ่งมีกำหนดภาคเรียน แตกต่างกันออกไปดังนี้

ระบบ Semester เป็นระบบที่นิยมใช้มากที่สุด ในระยะเวลาหนึ่งปีจะประกอบด้วย 2 Semesters และ 1-2 Summer Sessions แต่ละ Semester ยาวประมาณ 16 สัปดาห์ ดังนี้

–  Fall Semester เปิดประมาณปลายสิงหาคม – กลางธันวาคม
–  Spring Semester เปิดประมาณต้นมกราคม – เมษายน (บางครั้ง Summer Session จะแบ่งครึ่งเป็น 2 ช่วงสั้น ๆ)
–  Summer Session เปิดประมาณกลางพฤษภาคม – สิงหาคม

ระบบ Quarter ในหนึ่งปีแบ่งออกเป็น 4 Quarter แต่ละ Quarter ใช้เวลาเรียนประมาณ 10 สัปดาห์ ดังนี้

–  Fall Quarter เปิดประมาณกลางกันยายน – ธันวาคม
–  Winter Quarter เปิดประมาณมกราคม – กลางมีนาคม
–  Spring Quarter เปิดประมาณต้นเมษายน – กลางมิถุนายน
–  Summer Quarter เปิดประมาณกลางมิถุนายน- สิงหาคม

ระบบ Trimester ใน 1 ปี แบ่งภาคการศึกษาดังนี้

–  First Trimester เปิดประมาณกันยายน – ธันวาคม
–  Second Trimester เปิดประมาณมกราคม – เมษายน
–  Third Trimester เปิดประมาณพฤษภาคม – สิงหาคม

การสมัครเข้าศึกษา

นักศึกษาที่ต้องการไปศึกษาต่อสหรัฐอเมริกา ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 1 ปี การติดต่อสถานศึกษานั้น ผู้สมัครสามารถดำเนินการได้เอง โดยขอใบสมัครไปที่ Office of Admission ของมหาวิทยาลัย พร้อมระบุว่าต้องการสมัครสาขาใด ถ้าเป็นการสมัครระดับปริญญาโทหรือเอก ต้องเขียนขอใบสมัคร ไปที่ Graduate School Admissions Office หรือ Chairman ของคณะหรือแผนกที่ต้องการเรียน ในยุคของคอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถสมัครผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต แต่ต้องกรอกข้อความให้ครบถ้วน และดำเนินการทุกขั้นตอนตามที่สถานศึกษา กำหนด ใบสมัครจะไม่ได้รับการพิจารณา ถ้าทางสถาบันไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมการสมัคร

หลังจากที่ส่งจดหมายหรือแบบฟอร์มขอใบสมัครไปยังสถานศึกษา ประมาณ 3-6 สัปดาห์ นักศึกษาควรจะได้รับการติดต่อกลับมาจากสถานศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะส่งรายละเอียด และใบสมัครหรือใบสมัครขั้นต้น (Preliminary Form) มาให้ ผู้สมัครต้องอ่านรายละเอียดที่ส่งมา และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเอกสาร ที่สถานศึกษาต้องการให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัคร หรือนักศึกษาอาจติดต่อตัวแทนสถาบัน ที่เป็นสมาชิกชมรมแนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการสมัคร

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครเรียน (เพิ่มเติม)

1.  แบบฟอร์มใบสมัครที่กรอกเรียบร้อยแล้ว

2.  ค่าธรรมเนียมการสมัคร (Application Fee) 30-250 เหรียญสหรัฐ (แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด) ซึ่งค่าสมัครนี้จะไม่มีการคืน ไม่ว่าจะรับหรือไม่รับนักศึกษาก็ตาม

3.  ใบแสดงผลการเรียน (Transcript) ฉบับจริง

4.  สถานศึกษามักต้องการผลสอบ TOEFL GRE หรือ GMAT สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทหรือเอก ผลสอบเหล่านี้ต้องขอให้ศูนย์สอบ เช่น Education Testing Service (ETS) ส่งผลไปยังสถานศึกษาโดยตรง (รายงานผลสอบที่ส่งจากศูนย์สอบไปยังสถานศึกษานี้ เรียกว่า Official Score Report)

5.  จดหมายรับรองฐานะทางการเงิน (Financial Statement) ของผู้ปกครองจากสถาบันการเงินที่ผู้ปกครองเป็นลูกค้า อยู่ในกรณีที่เป็นนักเรียนทุน ควรมีจดหมายรับรองการรับทุนแนบไปด้วย

6.  จดหมายรับรอง (Letter of Recommendation) 2-3 ฉบับจากอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บังคับบัญชา

7.  บทเรียงความประวัติส่วนตัวหรือจุดประสงค์ในการศึกษาต่อ หรืออาจจะเป็นหัวข้ออื่นๆ แล้วแต่สถานศึกษาจะกำหนด ประมาณ 300-500 คำ

8.  สำเนาพาสปอร์ต

เอกสารเหล่านี้ ต้องส่งทางไปรษณีย์อากาศให้ถึงสถานศึกษาก่อนวันปิดรับสมัคร สถานศึกษาจะพิจารณาจากหลักฐานที่ส่งไป หากพอใจก็จะส่งจดหมายตอบรับเข้าเรียน หลายแห่งจะให้นักศึกษาตอบยืนยันการตัดสินใจอีกครั้งว่า จะไปเรียน ณ สถานศึกษาที่ตอบรับมานี้แน่นอนแล้ว จึงจะส่งใบตอบรับอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า I-20 Form มาให้ เพื่อให้นักศึกษานำไปใช้ เป็นหลักฐานประกอบการขอวีซ่านักเรียน สถานศึกษาหลายแห่งอาจแนบรายละเอียดการลงทะเบียนเรียนมาด้วย  เนื่องจากการติดต่อสถานศึกษา การสอบต่างๆ การส่งเอกสารและการพิจารณาใบสมัครใช้เวลามาก ฉะนั้นผู้สนใจ ไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาควรเริ่มเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อยประมาณ 1 ปีก่อนกำหนดเดินทาง

ใส่ความเห็น