U-Dom Student Services

แนะแนวศึกษาต่อต่างประเทศ ให้คำปรึกษาเรื่องวีซ่า จองตั๋วเครื่องบิน จัดหาที่พัก

UK

scarborough-headland-from-s

ระบบการศึกษาในประเทศอังกฤษ
          ระบบการศึกษาในประเทศสหราชอาณาจักรนั้นเป็นระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานสูงและเป็นต้นแบบให้กับระบบการศึกษาในอีกหลายๆ ประเทศมาช้านาน แบ่งได้เป็น 4 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา ระดับ อาชีวศึกษา และระดับปริญญา สำหรับการศึกษาภาคบังคับเริ่มตั้งแต่อายุ 5 ปี จนถึง 16 ปี 95% ของผู้เรียนจะเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาล แต่ก็มีผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่มีฐานะดีจะเลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชน

ระดับประถมศึกษา (Preparatory School)
          เกณฑ์ในการรับเข้านักเรียนในระดับนี้คือ อายุ 5-13 ปี การเรียนการสอนจะเน้นทักษะการเขียนและทักษะทางคณิตศาสตร์ เน้นให้ผู้เรียนให้มีพัฒนาการตามวัยของเด็กระดับเตรียมประถม Pre-Preparatory School รับผู้เรียนอายุ 5-7 ปี ระดับประถม Preparatory School รับผู้เรียนเด็กอายุ 8-13 ปี การเรียนระดับนี้มุ่งเน้นการเตรียมเข้าสอบ Common Entrance Examination (CEE) เพื่อก้าวเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยม

ระดับมัธยมศึกษา
           โรงเรียนมัธยมของเอกชน หรือ Public School รับนักเรียนอายุตั้งแต่ 13 ปี ขึ้นไป ซึ่งนักเรียนที่สามารถเข้าเรียนในระดับนี้ได้ตั้งสอบผ่าน Common Entrance Examination (CEE) โรงเรียนประเภทนี้มีให้เลือกทั้งแบบหญิงล้วน ชายล้วน หรือสหศึกษา ทั้งแบบประจำและไปกลับ มีบางแห่งที่เปิดสอนเฉพาะนักเรียน ที่มีพรสวรรค์พิเศษเช่น ทางกีฬาและดนตรีด้วย โรงเรียนมัธยมเอกชนส่วนมากมีการจัดตั้งเป็นมูลนิธิหรือเป็นองค์กรที่มิได้หวังผลกำไร

ข้อดีของ การศึกษาในโรงเรียนเอกชน คือ
            ชั้นเรียนมีขนาดเล็กกว่าโรงเรียนรัฐบาล จึงดูแลเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างใกล้ชิด โรงเรียนสามารถพัฒนานักเรียนแต่ละคนให้แสดงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ให้ปรากฎเด่นชัด โรงเรียนจะเน้นหนักทางด้านวิชาการ ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมนักเรียนให้มีความมั่นใจ รู้จักกาวางตัวที่ดีและเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี โรงเรียนมีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ สู่วงการการศึกษา จัดให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย ให้การสนับสนุนกิจกรรมทางด้านกีฬาหลากหลายประเภทด้วยกัน เช่น รักบี้ ฟุตบอล ฮ๊อกกี้ ว่ายน้ำ พายเรือ ขี่ม้า เรือใบ กอล์ฟ และอื่นๆ เป็นต้น เน้นพัฒนาความสามารถในการรู้จักพึ่งพาตนเอง การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การประสานงาน และการทำงานโดยพร้อมเพรียงกัน ฝึกให้นักเรียนเป็นผู้รู้จักหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีวินัย ซื่อสัตย์ และมีระเบียบเคร่งครัดเป็นสำคัญ

ระบบโรงเรียนประจำในอังกฤษ
            ระบบโรงเรียนประจำนั้นเหมาะสมสำหรับเด็กเล็กที่ผู้ปกครองต้องการให้โรงเรียนฝึกความมีระเบียบวินัย เพราะจะต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อฝึกให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ ที่สำคัญคือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับคนส่วนใหญ่ได้ดี แต่สำหรับเด็กที่โตแล้วก็จะได้รับการฝึกฝนให้เป็นผู้นำ และให้ความเป็นอิสระมากขึ้น ในระดับมัธยมศึกษา ทางกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ของอังกฤษกำหนดให้มีการสอบวัดผลความรู้และความสามารถของเด็ก การสอบจะจัดโดยคณะกรรมาธิการอิสระ ซึ่งมี 5 คณะ ผลการสอบดังกล่าวจะนำไปใช้ในการสมัครเข้าในระดับ อุดมศึกษาต่อไป การสอบนี้มี 2 ประเภท คือ

GCSE
             GCSE (General Certificate of Secondary Education) การสอบระดับนี้จะสอบเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 16 ปีขึ้นไป นักเรียนเลือกสอบประมาณ 8-12 วิชา เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษา อังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาต่างประเทศ ศิลปะ ฯลฯ และผลการสอบจะแบ่งเป็น 7 ระดับ คือ Grade A, B, C, D, E, F, G ผู้ที่สอบได้ Grade C ขึ้นไปจึงจะถือว่าสอบผ่าน นักเรียนที่สอบ GCSE จนได้รับวุฒิบัตรสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรสายสามัญ “A” Level ได้หรือหลักสูตรสายวิชาชีพ Advanced GNVQ อีก 2 ปี

GCE A Level (GCE Advanced)
         GCE A Level (GCE Advanced) เป็นการสอบวัดผลความสามารถทางวิชาการของเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป วิชาที่สอบมีให้เลือก 50 กว่าวิชา ส่วนใหญ่จะสอบ 2-3 วิชาที่มีความสัมพันธ์กันคือ ทางด้าน Science หรือทางด้าน Humanity ผลการสอบมี 5 ระดับคือ A, B, C, D, E แต่ Grade ที่ได้ทั้ง 5 ถือว่าสอบผ่านทั้งหมด มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่พิจารณารับผู้มีผลการสอบในระดับ C ขึ้นไป บางแห่งอาจรับเฉพาะผู้ที่ได้คะแนนระดับ A และ B ผลสอบ GCE “A” Level นี้จะเป็นเกณฑ์ที่สถานศึกษาใช้ในการพิจารณารับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับ ปริญญาตรี โดยกำหนดดังนี้ แบบ 5 วิชานักเรียนจะต้องมีคะแนนสอบ GCSE 3 วิชา และ GCE “A” Level 2 วิชา แบบ 4 วิชานักเรียนจะต้องมีคะแนนสอบ GCSE 1 วิชา และ GCE “A” Level 3 วิชา การสอบ GCSE, GCE “A” Level จะสอบประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม

ระดับอาชีวะศึกษา (Further Education)
         ระดับ อาชีวะศึกษา เป็นการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อให้นักเรียนที่มีอายุ 16 ปีไปแล้ว ไม่ประสงค์จะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา แต่ต้องการจะมีคุณวุฒิทางวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อใช้ในการประกอบสายอาชีพ นอกจากนี้ยังเปิดสอนวิชาสามัญคือ GCSE และ GCE “A” Level สถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษามีทั้งของรัฐบาลและเอกชน BTEC HNC/HND หรือ Diploma of Higher Education (Dip.HE) หลักสูตร 2 ปี ส่วนใหญ่เปิดสอนใน College of Higher Education และอาจมีในมหาวิทยาลัยบางแห่ง รับจากผู้ที่สอบ “A” Level อย่างน้อย 1 วิชา หรือสำเร็จการศึกษาระดับ National Diploma วิธีการสมัครต้องสมัครผ่าน UCAS เช่นเดียวกับปริญญาตรี       

         1. สถาบันอาชีวศึกษาของรัฐบาล มีประมาณ 500 กว่าแห่ง หลักสูตรที่จัดสอนได้แก่ วิชาบริหารธุรกิจ การโรงแรม วิศวกรรม- ศาสตร์ ช่างเทคนิค การเกษตร ฯลฯ สถาบันการศึกษาของ รัฐบาล ได้แก่

College of Further Education
College of Education
Technical College
College of Technology
College of Art
College of Commerce
Agricultural College

          ในอังกฤษและเวลส์ การศึกษาระดับอาชีวะจะได้วุฒิบัตร จาก Business and Technician Education Council (BTEC) ส่วนในสก๊อตแลนด์ได้วุฒิบัตรจาก Scottish Vocational Education Council (SCOTVEC) แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

First Certificate/Diploma (FC/FD) เป็นการศึกษาในระดับที่ต้องการจะช่วยเหลือผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียน (อายุเกิน 16 ปี) โดยได้รับประกาศนียบัตร GCSE เพียงไม่กี่วิชาหรือไม่ได้รับเลย ซึ่งต้องการจะหางานทำในสายวิชาชีพต่างๆ หลักสูตรการศึกษา 1 ปี เมื่อจบแล้วสามารถเรียนต่อในระดับสูงขึ้นได้อีก

National Certificate/Diploma (NC/ND) เป็นการศึกษาในสายวิชาชีพที่มีคุณวุฒิสูงขึ้นจาก FC/FD ใช้เวลาเรียน 2 ปี โดยรับผู้มีคุณวุฒิ FC/FD หรือประกาศนียบัตร GCSE อย่างน้อย 4 วิชา ผู้ที่จบระดับ NC/ND นี้ นอกจากมีวุฒิบัตรวิชาชีพแล้วยังเทียบได้เท่ากับ GCE “A” level ด้วย ซึ่งหากได้คะแนนดีมาก สามารถสมัครเรียนระดับปริญญาตรีได้

Higher National Certificate Diploma (HNC/HND) เป็นการศึกษาในระดับสูงสุดของระดับอาชีวศึกษา หลักสูตร 2 ปี ซึ่งถือว่าระดับนี้เป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษา (Higher Education) ด้วยเช่นกัน รับผู้ที่จบการศึกษา NC/ND หรือ ผู้มีคุณวุฒิ GCSE 3 วิชา + GCE “A” level 1 วิชา ผู้ที่จบหลักสูตรนี้ถือว่า ได้มีคุณวุฒิสูงกว่าอนุปริญญาของไทยแต่ต่ำกว่าปริญญาตรี 1 ชั้น นอกจากนี้ หากประสงค์จะศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีก็สามารถทำได้ โดยใช้เวลาศึกษาอีก 2 ปี แต่ทั้งนี้ผลการเรียนต้องดีเด่น   

             2. สถาบันอาชีวศึกษาของเอกชน ส่วนใหญ่มอบเพียง ประกาศนียบัตร ดังนั้นสำหรับสถานศึกษาเอกชนจึงควรเลือก สถานศึกษาที่ได้รับรองวิทยฐานะจาก The British Accredition Council for Further and Higher Education (BAC) ซึ่งเป็น หลักประกันว่ามีมาตรฐานการเรียนการสอนที่เชื่อถือได้สถาบัน อาชีวศึกษาของเอกชน ได้แก่

Tutorial College เป็นสถานศึกษาที่เรียนเน้นหนักเฉพาะวิชาที่สอบ GCSE และ GEC “A” level ลักษณะของโรงเรียน เป็นทำนองเดียวกับโรงเรียนกวดวิชาของไทย โดยสอนนักเรียนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล ห้องเรียนจำกัดนักเรียน ดังนั้นนักเรียนจะมีโอกาสใกล้ชิดกับครู สามารถซักถามข้อสงสัยเป็นการส่วนตัวจากครู และไม่ต้องเสียเวลาเรียนวิชาอื่น ในกรณีที่ไม่ได้ใช้ในการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย โดยปกติใช้เวลาเรียน 2 ปี ก็สามารถสอบ GCSE และ GCE “A” level ได้ นอกจากนี้สถานศึกษาบางแห่งอาจมีหลักสูตรภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เลขานุการ

College หรือ College of Higher Education เป็นสถาบันการศึกษาของเอกชนที่เปิดสอนสาขาวิชาต่างๆ เช่น บริหารธุรกิจ บัญชี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งให้คุณวุฒิประกาศนียบัตร BTEC First หรือ National หรือ Higher National Diploma (FD/ND/HND)

Secretarial College สอนวิชาเลขานุการ พิมพ์ดีด ธุรกิจ ชวเลข และงานทั่วไปเกี่ยวกับสำนักงาน เพื่อรับประกาศนียบัตรของโรงเรียนเอง หรือของ Pitman หรือ London Chamber of Commerce หลักสูตรทั่วไปใช้เวลา 1 ปี บางแห่งมีหลักสูตรเร่งรัดใช้เวลา 6 เดือนถึง 1 ปี หรือ 2 ปี รัฐบาลอังกฤษไม่มีระบบรับรองวิทยฐานะของสถานศึกษาเหล่านี้ แต่ทางสถานศึกษาก็พยายามจัดหลักสูตรการสอน เพื่อให้นักเรียนไปสอบประกาศนียบัตรของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น Royal Society of Arts และ London Chamber of Commerce and Industry

ระดับอุดมศึกษา (Higher Education)
          ได้แก่การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยและ College of Higher Education ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีประมาณกว่า 100 แห่ง เป็นของรัฐบาลเกือบทั้งหมดยกเว้น University of Buckingham ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียว (Polytechnic ในสหราชอาณาจักรขณะนี้ ได้ยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยทั้งหมดแล้ว ซึ่งรวมอยู่ใน 80 แห่งดังกล่าวแล้ว) สำหรับ College of Higher Education มีประมาณ 243 แห่ง หลักสูตรการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็น

Undergraduate
           First Degree (Bachelors Degree) หลักสูตรส่วนใหญ่ 3 ปี ยกเว้นบางสาขาเช่น วิศวกรรมศาสตร์ (4 ปี) สถาปัตยกรรมศาสตร์ (5 ปี) ทันตแพทย์ (5 ปี) สัตวแพทย์ (5 ปี) แพทย์ (6 ปี)ปริญญาที่ให้ได้แก่ Bachelor of Arts (BA), Bachelor of Sciences (B.Sc), Bachelor of Education (B.Ed.), Bachelor of Engineering (B.Eng.)

การสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี
          General Requirement (คุณสมบัติทั่วไป) คือ ได้รับ ประกาศนียบัตร GCSE และ GCE “A” Level ในรูปแบบใด แบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้ แบบ 5 วิชา GCSE 3 วิชา + “A” level 2 วิชา แบบ 4 วิชา GCSE 1 วิชา + “A” level 3 วิชา สำหรับนักเรียนต่างชาติที่จบระดับมัธยมศึกษา หรือ เทียบเท่าก็จะมีเกณฑ์การรับเข้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ Course Requirement เป็นการกำหนดคุณสมบัติให้แคบลงสำหรับผู้จะสมัครในสาขาวิชาต่างๆ เช่น จะสมัครเข้าเรียนในสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา จะกำหนดว่าจะต้องสอบ A-Level วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และ GCSE วิชาภาษาอังกฤษในการสมัครเข้าศึกษาวิชาเดียวกัน แต่ต่างมหาวิทยาลัย ก็อาจจะกำหนดคุณสมบัติเฉพาะแตกต่างกัน สำหรับนักเรียนต่างชาติก็จะพิจารณาประวัติการเรียน คะแนนรายวิชา ประกอบด้วยเช่นกัน อายุของผู้สมัคร ในบางสถาบันจะกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร โดยปกติจะกำหนดไว้อย่างต่ำ 17 ปี บางแห่งอาจกำหนด 18 ปี

วิธีการสมัคร 

         ผู้สมัครต้องสมัครผ่านองค์กรกลาง คือ UCAS (Universities Central Admission System) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รวม The Universities Central Council on Admission (UCCA) และ Polytechnics Central Admissions System (PCAS) เดิม เข้าด้วยกัน จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 เป็นต้นไป ผู้สมัครสามารถเลือกสถานศึกษาได้ 8 แห่ง ตามลำดับความต้องการต้องยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 15 ธันวาคม สำหรับการเข้าศึกษาในปีถัดไป ยกเว้น Oxford University & Cambridge University ซึ่งต้องผ่านการสอบ Entrance ที่มหาวิทยาลัยจัดเองและจะต้องสมัครก่อนวันที่ 15 ตุลาคม            

         การสมัครในระดับปริญญาตรีสำหรับนักเรียนไทย ที่จบ ม.6 นักเรียนไทยที่สำเร็จ ม.6 แล้วยังไม่สามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยในระบบของสหราชอาณาจักรได้ เนื่องจากการสมัครต้องใช้ผลการสอบ GCSE และ GCE “A” Level แต่ทางสหราชอาณาจักรเทียบวุฒิ ม.6 ของไทยเท่ากับ GCSE นักเรียนไทยมีโอกาสไปศึกษาต่อโดยใช้ทางเลือกใดทางเลือกหนึ่ง ดังต่อไปนี้  

         ไปศึกษา GCE “A” Level ในสถานศึกษาประเภท Tutorial College และสอบ GCE “A” Level ให้ได้ 2-3 วิชา ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ทางเลือกวิธีนี้ทำให้นักเรียน เสียเวลาเรียนมาก แต่นักเรียนสามารถใช้วุฒิดังกล่าวสมัคร มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรได้ทุกแห่ง ทั้งนี้สถานศึกษาจะตอบรับหรือไม่ขึ้นอยู่กับคะแนนผลการสอบ “A” level      

          เรียนหลักสูตร Foundation year หรือ Access หรือ Bridging Course ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี หลักสูตรดังกล่าว สถานศึกษาหลายแห่งในสหราชอาณาจักรจัดเป็นหลักสูตร พิเศษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ (ที่มีระบบการศึกษาแตกต่าง จากระบบการศึกษาของสหราชอาณาจักร) เพื่อเตรียมความ พร้อมด้านภาษาอังกฤษและวิชาการให้แก่นักเรียนต่างชาติ ใน การที่จะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีโดยไม่ต้องสอบ GCE “A” Level หากสอบผ่านหลักสูตรนี้แล้วมหาวิทยาลัยและ College of Higher Education บางแห่งก็จะรับเข้าศึกษาในระดับ ปริญญาตรีต่อไปได้

Post – Graduate       

          การศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีมี 3 ระดับ

          Post – Graduate Certificate Diploma หลักสูตร 9 เดือน ถึง 1 ปี รับผู้สำเร็จปริญญาตรี
          Master Degree หลักสูตร 1-2 ปี รับผู้สำเร็จ ปริญญาตรี ทีมีผลการเรียนดี ปริญญาที่ให้ได้แก่ M.Sc.,  M.A., M.BA., M.Phil (มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งรับปริญญาตรี เกียรตินิยม)
          Doctoral Degree หลักสูตรการทำวิจัยใช้เวลา 3 ปี ปริญญาที่ให้คือ Doctor of Philosophy (Ph.D./D.Phil) มหาวิทยาลัยส่วนมากรับผู้ผ่านการศึกษาหลักสูตร M.Phil

การสมัครระดับ Post-Graduate Course
         ระดับนี้นักศึกษาต้องสมัครโดยตรงไปยังมหาวิทยาลัยที่สนใจ ซึ่งปกติจะเปิดรับสมัครเพียงปีละ 1 ครั้ง และเริ่มมีบางสถาบันที่เปิดเพิ่มเติมเป็นปีละ 2 ครั้ง คือ เปิดประมาณเดือนมกราคม การรับสมัครนั้นไม่มีกำหนดวันปิดรับสมัคร ยิ่งสมัครเร็วเท่าใด ก็จะมีโอกาสได้รับการตอบรับมากขึ้น จึงควรสมัครล่วงหน้าก่อนเปิดภาคเรียน (เดือน ตุลาคมของทุกปี) ประมาณ 6-12 เดือน

เอกสารที่ใช้ประกอบการสมัคร
1.   Transcript
2.   ผลสอบ IELTS 6.0 – 6.5 หรือ TOEFL 500 – 550 หรือ Cambridge Proficiency
3.   Letter of Recommendation จากอาจารย์ 2 ท่าน
4.   Bank Statement ของผู้ปกครอง
5.   เรียงความประวัติส่วนตัว และโครงการอาชีพในอนาคต ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงาน
6.   สำหรับสาขา MBA สถานศึกษาบางแห่งต้องการ GMAT และประสบการณ์ในการทำงาน

      ภาคการศึกษาของสถานศึกษาทุกระดับในประเทศอังกฤษ เริ่มต้นภาคแรกในราวปลายเดือนกันยายนหรือ ต้นเดือน ตุลาคมของปีหนึ่ง และสิ้นสุดราวปลายเดือนมิถุนายนหรือต้น เดือนกรกฎาคมของปีถัดไป ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ

ปีการศึกษา
      ภาคต้น Autumn Term ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงกลางเดือนธันวาคม
      ภาคกลาง Spring Term ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ถึงปลายเดือนมีนาคม 
      ภาคปลาย Summer Term ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม           

      สำหรับการรับนักศึกษาใหม่ของสถาบันการศึกษาของรัฐ ในทุกระดับนั้นจะรับเฉพาะในภาคต้น (Autumn Term) เท่านั้น ยกเว้นในหลักสูตรสูงกว่าปริญญาตรี ถ้าเป็นหลักสูตรที่ศึกษาโดยการทำการวิจัย (by research) ก็อาจรับเข้าศึกษาในภาคการศึกษาอื่นๆ ได้ด้วย

ใส่ความเห็น